วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ความเป็นมาและองค์ประกอบ
การค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นเนื่องจากการที่โลกได้ถูกแบ่งออกเป็นประเทศ แต่ละประเทศต่างผลิตสินค้าหรือบริการแตกต่างกัน เมื่อแต่ละประเทศต่างเกิดความต้องการที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ตนผลิต
ได้เป็นจำนวนมากกับสินค้าและบริการที่ตนผลิต
ได้น้อยหรือผลิตไม่ได้เลยกับประเทศอื่น ประกอบกับการคมนาคมไปมาหาสู่กันสะดวก การค้าระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้น
การที่แต่ละประเทศผลิตสินค้าหรือบริการได้แตกต่างกันเป็นเพราะสาเหตุต่อไปนี้
    1. 1. แต่ละประเทศต่างมีลักษณะที่ตั้งต่างกัน ลักษณะที่ตั้งของบางประเทศเอื้ออำนวยให้เกิดการผลิตสินค้าหรือบริการ เช่น ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลก็จะมีอุตสาหกรรมต่อเรือเพื่อขนส่งสินค้าหรือการให้
      การบริการขนถ่ายสินค้าโดยใช้ท่าเรือน้ำลึกบางประเทศมีภูมิประเทศงดงาม
    2. จะมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกิดขึ้น
    3. 2. แต่ละประเทศมีแร่ธาตุซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติมากน้อยต่างกัน เช่น สวีเดนมีเหล็ก เยอรมันมีถ่านหิน เวเนซูเอลาและตะวันออกกลางมีน้ำมัน แอฟริกาใต้มีทองคำและยูเรเนียม ประเทศเหล่านี้ก็จะนำแร่ธาตุขึ้นมาใช้และส่งเป็นสินค้าออก
    4. 3. แต่ละประเทศมีลักษณะดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นประเทศที่อยู่ในเขตอบอุ่นสามารถปลูกข้าวสาลีได้ ไทยอยู่ในเขตมรสุมสามารถปลูกข้าวได้ บราซิลเป็นประเทศในเขตศูนย์สูตรสามารถปลูกกาแฟได้ จากการที่พืชผลสามารถขึ้นได้ดี ตามสภาพดินฟ้าอากาศ แต่ละชนิดดังกล่าวทำให้แต่ละประเทศสามารถผลิตพืชผลชนิดนั้นได้เป็นจำนวนมาก
      เมื่อมีเหลือก็สามารถส่งเป็นสินค้าออก
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎียืนยันว่า "ถ้าทุกประเทศแบ่งงานผลิตสินค้าและบริการตามที่ตนถนัด หรือเมื่อเปรียบเทียบแล้วได้เปรียบจะทำให้มีผลผลิตเกิดขึ้นมากกว่าต่างคนต่างผลิต"
ดุลการค้าและดุลการชำระเงิน
ในการทำการค้าระหว่างประเทศนั้น ประเทศหนึ่ง ๆ ย่อมต้องบันทึกรายการที่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ได้ทราบผลการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ รายการค้ากับต่างประเทศนี้อาจบันทึกอยู่ใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือดุลการค้าและดุลการชำระเงิน
ดุลการค้า (Balance of Trade) ได้แก่ การเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าที่ประเทศหนึ่งส่งออกขาย (export) ให้ประเทศอื่น ๆ กับมูลค่าของสินค้าที่ประเทศนั้นสั่งซื้อเข้ามาจำหน่ายว่ามากน้อยต่างกันเท่าไรในระยะ 1 ปี เพื่อเปรียบเทียบว่าตนได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
(net export = export - import)
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยส่งสินค้าออกหลายประเภทไปขายยังประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ มีมูลค่ารวมกัน 589,813 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2533 และในปีเดียวกันก็ได้สั่งสินค้าเข้าจากประเทศต่าง ๆ มีมูลค่า 844,448 ล้านบาท เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะทำให้ทราบได้ว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบดุลการค้า ในการเปรียบเทียบนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
    1. 1. ดุลการค้าได้เปรียบ หรือเกินดุล ได้แก่การที่ประเทศหนึ่งส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่าสั่งสินค้าเข้ามาอุปโภคบริโภค
    2. 2. ดุลการค้าเสียเปรียบ หรือขาดดุล ได้แก่การที่ประเทศหนึ่งส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ มีมูลค่าน้อยกว่าที่สั่งสินค้าเข้ามาอุปโภคบริโภค
    3. 3.ดุลการค้าสมดุล ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน หรือเท่ากันมีผลลบเป็นศูนย์กล่าวคือมูลค่าสินค้าเข้า เท่ากับมูลค่าสินค้าส่งออก
โดยทั่วไปการใช้ดุลการค้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้ทราบฐานะที่แท้จริงของประเทศได้ กล่าวคือดุลการค้าที่เสียเปรียบนั้น อาจไม่เป็นผลเสียใด ๆ ต่อประเทศก็ได้ เนื่องจากบันทึกเกี่ยวกับดุลการค้านั้นจะไม่รวมถึงการนำเข้าสินค้าบางชนิด ที่ไม่ต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศก็ได้เนื่องมาจากสินค้าชนิดนั้นจะมาจากการบริจาคช่วยเหลือ ถ้านำเอารายการนี้มาหักออกอาจทำให้ดุลการค้าลดลงหรือการคิดราคาสินค้าเข้าและสินค้าออกต่างกัน กล่าวคือขณะที่สินค้าเข้ารวมมูลค่าขนส่งและการประกันภัย แต่สินค้าออกไม่ได้รวมไว้ หรือการสั่งสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องจักรกลเข้ามาทำการผลิตสินค้า ดูเหมือนว่าจะทำให้เสียเปรียบดุลการค้าก็จริง แต่ในระยะยาวแล้วเมื่อมีการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยสินค้านั้นอาจทำให้ได้เปรียบดุลการค้าในระยะยาว
ประเทศที่ดุลการค้าได้เปรียบถือว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นเจริญ แต่อาจจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เสมอไป เช่น เมื่อได้รับเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกลางสามารถเพิ่มปริมาณเงินในท้องตลาดได้มาก พ่อค้าสามารถ แลกเงินตรา ต่างประเทศมาเป็นเงินในประเทศได้มาก เมื่อปริมาณเงินในท้องตลาดมากอาจเกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือการที่ประเทศใด ประเทศหนึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศอื่นติดต่อกันหลายปีจะทำให้ประเทศคู่ค้าไม่สามารถมีเงินมาซื้อสินค้าหรือชำระเงินได้ ย่อมเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ดังนั้นนักคิดทางเศรษฐศาสตร์จึงเห็นว่าไม่ควรเปรียบเทียบเฉพาะราย การสินค้า เท่านั้น จึงจะทำให้ทราบสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ แต่ควรมีรายการอื่น ๆ เข้ามาแสดงเปรียบเทียบด้วย และรายการอื่น ๆ ที่แสดงเปรียบเทียบนั้นแต่ละประเทศจะแสดงไว้ในรูปของดุลชำระเงินระหว่างประเทศ
ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ (International Balance of Payment) คือสถิติในรูปบัญชีแสดงรายรับ (หรือ credit = +) ที่ประเทศหนึ่งได้รับจากต่างประเทศ และรายจ่าย (หรือ debit = - ) ที่ประเทศนั้นจ่ายแก่ต่างประเทศในรอบ 1 ปี นำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อทราบตนได้เปรียบหรือเสียบเปรียบ โดยปกติดุลการชำระเงินจะประกอบไปด้วย
    1. 1. บัญชีดุลการค้า
    2. 2. บัญชีดุลบริการ
    3. 3. บัญชีดุลบริจาค
    4. 4. บัญชุทนหรือบัญชีเงินทุน
    5. 5. บัญชีการเคลื่อนย้ายเงินทุนของระบบการเงิน
    6. 6. จำนวนไม่ประจักษ์หรือค่าคลาดเคลื่อนสุทธิ
จากบัญชีดุลชำระเงินทั้ง 6 ชนิดนี้ บัญชีดุลการค้า บัญชีดุลบริการ และบัญชีดุลบริจาค เรียกรวมกันว่า บัญชีเดินสะพัด (Current Account) เป็นบัญชีแสดงถึงการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศเฉพาะส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) เท่านั้น แต่ไม่มีรายการแสดงการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินหรือทุน ซึ่งดุลการชำระเงินจะพิจารณาจาก ดุลการชำระเงิน = ดุลบัญชีเดินสะพัด + ดุลบัญชีทุน + จำนวนไม่ประจักษ์ ซึ่งจะแสดงผลอยู่ใน 3 ลักษณะ คือ ถ้ายอดรายรับมากว่ารายจ่าย เรียกว่า ดุลการชำระเงินเกินดุล ถ้ายอดรายรับน้อยกว่ายอดรายจ่ายเรียกว่าดุลการชำระเงินขาดดุล และถ้ายอดรายรับหรือรายจ่ายเท่ากันหรือเป็นศูนย์เรียกว่าดุลการชำระเงินสมดุล
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
เงินตราต่างประเทศ หมายถึง เงินตราของประเทศอื่นซึ่งอยู่ในความครอบครองของรัฐบาลหรือเอกชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เงินตราต่างประเทศในทัศนะของเอกชนและรัฐบาลไทยก็คือเงิน ดอลลาห์ มาร์ค เยน ปอนด์ เป็นต้น ส่วนเงินบาทเป็นเงินที่ออกโดยรัฐบาลไทย ถือเป็นเงินตราต่างประเทศทัศนะของรัฐบาลและเอกชนของประเทศอื่นนอกจากประเทศไทย เงินตราของประเทศต่าง ๆ แต่ละหน่วยจะมีอำนาจซื้อแตกต่างกันไปตามค่าของเงินในแต่ละประเทศ ซึ่งค่าของเงินแต่ละประเทศจะถูกกำหนดไว้ในรูปของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการค้าระหว่างประเทศ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนหมายถึงราคาของเงินตราสกุลหนึ่งเมื่อเทียบกับเงินตราของสกุลอื่น ๆ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นราคาที่สำคัญเมื่อเทียบกับราคาสินค้าโดยทั่วไป ทั้งนี้เพราะอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นตัวเชื่อมโยงของราคาสินค้าของประเทศต่าง ๆ หากเราไม่ทราบอัตราแลกเปลี่ยนจะทำให้เราไม่สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างประเทศได้ และเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยน ราคาสินค้าทุกชนิดในต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นเงินตราของประเทศใดประเทศหนึ่งจะเปลี่ยนไปด้วย ตัวอย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างปอนด์กับบาทเป็น 1 ปอนด์ต่อ 45 บาท เสื้อขนสัตว์ตัวหนึ่งมีราคา 20 ปอนด์ในประเทศอังกฤษจะมีราคา 900 บาทในประเทศไทย แต่ถ้าประเทศอังกฤษลดค่าเงินปอนด์เป็น 1 ปอนด์เท่ากับ 35 บาท เสื้อขนสัตว์ตัวเดิมจะมีราคาในประเทศไทยเพียง 700 บาทเท่านั้น โดยตั้งข้อสมมติในชั้นนี้ว่าราคาเสื้อขนสัตว์ในอังกฤษไม่เปลี่ยนแต่ในทางปฏิบัติจริง เมื่ออังกฤษลดค่าเงินปอนด์ ราคาสินค้าในอังกฤษจะเปลี่ยนจากระดับเดิมและราคาเปรียบเทียบระหว่างเงินบาทกับเงินปอนด์จะเปลี่ยนไป ดังนั้นราคาสินค้าที่สั่งจากประเทศไทยไปประเทศอังกฤษจะเปลี่ยนไปเช่นกัน กล่าวคือ ที่อัตราแลกเปลี่ยนเดิมทีเงิน 1 ปอนด์มีค่าเท่ากับ 45 บาทนั้น ถ้าประเทศอังกฤษต้องการซื้อรองเท้าซึ่งมีราคา 450 บาทจากประเทศไทย อังกฤษจะต้องจ่ายเงิน 10 ปอนด์ แต่เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเปลี่ยนไปเป็น 1 ปอนด์มีค่าเท่ากับ 35 บาท จะทำให้อังกฤษต้องจ่ายค่ารองเท้าคู่เดียวกันถึง 12.8 ปอนด์ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสินค้าเข้าและสินค้าออกของประเทศ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ฉะนั้นประเทศต่าง ๆ จึงพยายามหาวิธีร่วมกันในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจระบบเปิดมีการค้าติดต่อกันกับต่างประเทศมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ.2398 ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับต่างประเทศเป็นฉบับแรก คือสนธิสัญญาเบาริงกับประเทศอังกฤษ มีข้อความที่สำคัญคือ ประเทศไทยต้องยินยอมให้คนอังกฤษเข้ามาลงทุนค้าขายในประเทศได้อย่างเสรี ให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ให้นำฝิ่นเข้ามาค้าขายได้ และให้คนอังกฤษมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ทุกแห่ง ยกเว้น 4 ไมล์จากพระบรมมหาราชวัง จากสนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทย
การค้าขายระหว่างประเทศของไทย ถ้าแบ่งตามช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ช่วง คือ
    1. 1. ปี พ.ศ.2398-2474 มีการจัดทำสนธิสัญญาเบาริงและมีการติดต่อค้าขายกับบริษัทในยุโรปเป็นส่วนใหญ่
    2. 2. ปี พ.ศ.2475-2479 เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่การติดต่อค้าขายส่วนมากยังคงมีการติดต่อค้าขายกับประเทศยุโรป และเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับประเทศญี่ปุ่น
    3. 3. ปี พ.ศ.2480-2499 เป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทจากยุโรปเริ่มหายไป มีการการติดต่อค้าขายกับประเทศจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมากขึ้น
    4. 4. ปี พ.ศ.2500-2515 เป็นระยะเวลาที่มีการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นช่วงสำคัญที่มีการลงทุนส่งเสริมทางการค้าระหว่างประเทศ มีการก่อตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า และเร่งให้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับกิจกรรมอุตสาหกรรม
    5. 5. ปี พ.ศ.2516-2528 มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้ปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศลดลง ประกอบกับมีวิกฤตการณ์น้ำมันส่งผลให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อโดยทั่วไป
    6. 6. ปี 2528 ถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงประมาณร้อยละ 8 ในปี 2537 การติดต่อค้าขายส่วนมากจะเป็นการติดต่อค้าขายกับประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชีย (สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง) ประเทศเหล่านี้ส่วนหนึ่งมุ่งเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เนื่องจากประเทศไทยมีแรงจูงใจในเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับต้นทุนการผลิตถูกกว่าแหล่งอื่น
ในปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเมื่อพิจารณาจากช่วงที่ 4 อันเป็นช่วงที่เริ่มมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ประเทศไทยมีการค้าขายคิดเป็นมูลค่า 2600 ล้านบาท หลังจากนั้นในช่วงที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงปัจจุบัน ในปี 2534 ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าถึง 1670000 ล้านบาท หรือเพิ่มเป็น 64 เท่า เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ปรากฎว่ามูลค่าการค้าระหวางประเทศเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของ GNP ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เป็นร้อยละ 60-70 ของ GNP เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6
การที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยขยายตัวมากขึ้นนั้นเป็นเพราะการที่ประเทศไทยใช้นโยบายเปิดกว้างสำหรับการค้า ขายกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทย เพราะภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเจริญได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งช่วยให้มีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อันเป็นกลไกสำคัญสำหรับเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่การที่เศรษฐกิจของ ไทยเปิดกว้างมากย่อมมีผลทำให้เศรษฐกิจของไทยต้องขึ้นกับเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจประเทศ อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ และยังต้องผันผวนไปตามความไม่แน่นอนของตลาดโลกอีกด้วย ถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หรือมีสถานการณ์ดีก็ส่งผลให้ประเทศ ไทยพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกผันผวน หรือเกิดปัญหาขึ้นย่อมทำให้เศรษฐกิจไทย ประสบอุปสรรคหรือมีปัญหา อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจระยะยาวจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อโครงสร้างของสินค้า เข้าและสินค้าออกของไทย
จากการที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบเปิด มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียด้วยกันคือ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง ดังนั้นในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศต้องนำเข้าสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ และสินค้าประเภทกึ่งวัตถุดิบ และวัตถุดิบ เช่น โลหะ เคมีภัณฑ์ กระดาษ และเยื่อกระดาษ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงเฉลี่ยร้อยละ 18 ต่อปี มูลค่าของสินค้าเข้าเพิ่มจาก 10287.3 ล้านบาทในปี 2504 เป็น 980000 ล้านบาท ในปี 2534 เมื่อแยกประเภทของสินค้านำเข้าตามลักษณะการใช้ทางเศรษฐกิจแล้วจะเห็นว่าสินค้าบริโภคมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สินค้าประเภทเครื่องจักรที่นำมาใช้เป็นทุนในการผลิตสินค้าอุตสหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น
เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า สินค้าที่มูลค่าการนำเข้าสูงคือสินค้าประเภทเครื่องจักรกลเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เหล็ก และเหล็กกล้า เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมัน ยานบก ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานบก พลาสติก และของที่ทำด้วยพลาสติกเป็นสินค้าที่มีการนำเข้าในอันดับต้น ๆ (จากสถิติเปรียบเทียบสินค้านำเข้า ปีงบประมาณ 2535 และ 2536 ในเดือนกันยายน) ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้ามากที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา และเยอรมันตะวันตก ดังสถิติ ญี่ปุ่น 30.3% ตลาดร่วมยุโรป 14.5% อาเซียน 12.3% สหรัฐอเมริกา 10.8% อื่น ๆ 32.1%
สินค้าออกของไทย
ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาสินค้าออกของไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 60 เท่าตัว คือเมื่อเริ่มแผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 ประเทศไทยส่งสินค้าออกได้เพียง 9996.3 ล้านบาท แต่ในปี 2533 สินค้าออกของไทยได้เพิ่มเป็น 589813 ล้านบาท และเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 32 ของ GNP เมื่อพิจารณาตามโครงสร้างการส่งออกแยกตามภาคเศรษฐกิจพบว่า สินค้าออกประเภทผลิตผลเกษตรกรรมจะมีสัดส่วนค่อนข้างสูงในช่วงต้น ๆ ของแผนพัฒนาฯ แต่ภายหลังรัฐบาลได้ส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรม ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการส่งออกสูงกว่าสินค้าเกษตรกรรม
เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าและตลาดสินค้าออกของไทยจะเห็นว่าตลาดสินค้าออกที่สำคัญของไทยในปัจจุบัน คือ สิ่งทอ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณี กุ้งสดแช่เย็นและน้ำตาล โดยมีตลาดรับซื้อที่สำคัญดังนี้
สิ่งทอ ลูกค้าที่สำคัญลดหลั่นตามลำดับได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมันตะวันตก ซาอุดิอารเบีย และญี่ปุ่น
ข้าว ปัจจุบันลูกค้าข้าวรายใหญ่ของไทยคืออินเดีย รองลงมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และยูไนเต็ดอาหรับอีมีเรต
ยางพารา ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้ายางพาราจากประเทศไทยมากที่สุด คือ ประมาณ 1/3 ที่ไทยส่งออก
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ประเทศเนเธอแลนด์และเยอรมันตะวันตกตามลำดับ
แผงวงจรไฟฟ้า สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ตามลำดับ
อัญมณี ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าอัญมณีจากไทยมากที่สุด ประมาณ 1/4 ของอัญมณีส่งออกทั้งหมด รองลงไปคือสหรัฐอเมริกา และฮ่องกง
กุ้งสดแช่เย็น ญี่ปุ่นนำเข้ามากที่สุดประมาณ 1/2 ของปริมาณกุ้งสดแช่เย็นที่ส่งออกทั้งหมด รองลงไปคือสหรัฐอเมริกา เมื่อพิจารณาจากมูลค่าของการส่งออกตลาดสินค้าออกที่สำคัญของไทย ในปี 2534 ก็คือ สหรัฐอเมริกา (21.3%) ตลาดร่วมยุโรป(19.9%) ญี่ปุ่น (18.1%) อาเซียน (11.8%) ตลาดอื่น ๆ (32.1%)

ประเทศไทยได้เริ่มทำการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ.2398 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศอังกฤษได้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศไทยในชื่อสนธิสัญญาเบาริง จากสถิติพบว่าดุลการค้าต่างประเทศของไทยตั้งแต่ปี 2408-2499 อยู่ในฐานะเกินดุลทุกปี การขาดดุลการค้าจะเกิดขึ้นก็แต่เฉพาะในปีที่ประเทศประสบปัญหาฝนแล้งจนก่อให้เกิดการเสียหายแก่การผลิตอย่างร้ายแรง อย่างเช่นปี 2463 หรือกรณีเกิดภาวะสงครามหรือระยะหลังสงคราม คือ ระหว่างปี พ.ศ.2486-2490 แต่หลังจากปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้อยู่ในภาวะที่ขาดดุลติดต่อกัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ดังจะเห็นได้จากในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 6 ประเทศไทยขาดดุลการค้ามาโดยตลอด แต่ดุลการชำระเงินของไทยยังคงเกินดุล
สาเหตุของการค้าขาดดุลของไทยพอจะประมวลได้ดังนี้
  1. 1. อัตราการขยายตัวของสินค้าออกต่ำ เพราะเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
  2. 2. อัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าเขา เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมาก ทั้งความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมาก ทั้งความต้องการที่แท้จริงและความต้องการเทียมที่ผู้ผลิตสร้างขึ้น โดยอาศัยแรงจูงใจจากสื่อต่าง ๆ
  3. 3. การกีดกันทางการค้า ประเทศที่พัฒนาส่วนมาก จะมีนโยบายกีดกันทางการค้า เพื่อคุ้มครองสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศของตน ทำให้ไทยไม่สามารถส่งสินค้าออกไปแข่งขันได้อย่างเสรีในตลาดโลก
  4. 4. การเร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออก จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีการผลิต เพื่อการส่งออก ส่งผลให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และสินค้าประเภททุน รวมทั้งนำน้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเชื้อเพลิง
  5. 5. นโยบายการค้าเสรี รัฐบาลไทยทุกสมัยจะมีนโยบายเสรีด้านการนำเข้า แม้จะมีการเก็บภาษีนำเข้า แต่อัตราภาษีก็อยู่ในระดับต่ำ หรือในบางกรณีก็ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมตามวัตถุประสงคืของแผนพัฒนาฯฉบับต่าง ๆ ขณะที่สินค้าออกบางชนิด เช่น ข้าว ถูกควบคุมอย่างเด็ดขาด
แม้ประเทศไทยจะประสบปัญหาการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศติดต่อกันมาโดยตลอด แต่ในด้านความเชื่อถือทางการเงินระหว่างประเทศ เงินบาทของประเทศไทยก็ได้ชื่อว่ามีความมั่นคง เนื่องจากดุลการชำระเงินของไทยเกินดุลทุกปี สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดุลชำระเงินของประเทศไทยเกินดุลคือมีการเคลื่อนย้ายเงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยจึงผูกพันเข้ากับระบบการค้าของโลกอย่างเหนียวแน่น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายเฉพาะเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในรูปของการเจรจากับประเทศคู่ค้า การส่งเสริมให้มีการปรับปรุงสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานเพื่อให้สินค้าที่ไปจากประเทศไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นโยบายดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ของไทย ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศโดยตรงจะเป็นผู้กำหนดคือ
  1. 1. ด้านการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ
    1. ก. เน้นบทบาทการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพหุภาค และภูมิภาคโดยถือเป็นกลยุทธเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
    2. ข. ปรับปรุงกลไกการดำเนินงานด้านข่าวสารการค้า เพื่อนำมาเผยแพร่แก่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อใช้ในการกำหนดท่าทีในการเจรจาและแก้ปัญหาการค้าให้ทันสถานการณ์
  1. 2. ปรับปรุงตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการ
    1. ก.พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดโดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝีมือแรงงาน
    2. ข. พัฒนาแหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ และแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่จำเป็นจากต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
    3. ค. แสวงหาโอกาสลู่ทางที่จะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการแสวงหาวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมในประเทศ
    4. ง. รักษาส่วนแบ่งการตลาดดั้งเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน และขยายตลาดใหม่ ๆ เช่น ยุโรปตะวันออก และอินโดจีน
    5. จ. ปรับปรุงกฎระเบียบและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น การแก้ไขกฎระเบียบทางการค้า การปรับอัตราภาษี เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการส่งออก การพัฒนาระบบขนส่ง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และคลังสินค้า ให้เพียงพอต่อการขยายตัวด้านการส่งออก
  1. 3. การค้าบริการ
นอกจากจะส่งเสริมการค้าสินค้าแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังมีนโยบายส่งเสริมการค้าบริการระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางเสรียิ่งขึ้น ได้แก่
ก. ส่งเสริมให้มีศักยภาพในการผลิตและแข่งขันด้านบริการให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการขนส่งสินค้าและการประกันภัย
  1. ข. ส่งเสริมให้มีการขยายการลงทุนในธุรกิจบริการที่มีศักยภาพสูงในการแข่งขันกับต่างประเทศ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรม และการบินพาณิชย์ เป็นต้น
การขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และขยายตัวเพิ่มขึ้นอาจส่งผลมาถึงดุลการชำระเงิน ถ้ามีการเคลื่อนย้ายการลงทุนในปริมาณต่ำ และเสถียรภาพเงินตราของประเทศ ตลอดจนการกำหนดราคารับซื้อผลิตผลจากผู้ผลิตภายในประเทศ ภาวะการจ้างงาน และคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศในที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศด้วยวิธีการร่วมกับภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดสินค้าออก เจรจาทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

การรวมกลุ่มเศรษฐกิจ (Regional Economic Integration) หมายถึง การที่ประเทศมากกว่า 1 ประเทศขึ้นไปมารวมกันอย่างเป็นทางการ (Official Integration) เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจของภูมิภาคเดียวกัน
การที่ประเทศในภูมิภาคเดียวกันมารวมตัวกันนั้น เพราะประสบปัญหาทางการค้านานาประการ โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลการค้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไร้ประสิทธิภาพในการผลิตและความไม่มั่นคงในสินค้าที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต จึงเกิดมีการรวมกลุ่มกันเพื่อการผลิตและขยายตลาด และมีการทำสัญญาต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง
การรวมกลุ่มเศรษฐกิจมีหลายประเภท แต่มีลักษณะเหมือนกันอยู่ประการหนึ่งคือ "การใช้กำแพงภาษีกีดกันสินค้าจากประเทศนอกกลุ่มสมาชิก และให้มีสิทธิพิเศษในการนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม" การรวมกลุ่มจึงมีลักษณะของการค้าแบบเสรี และการค้าคุ้มกันอยู่ในตัวซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้
    1. 1. เขตปลอดภาษี (Free Trade) เป็นการรวมกลุ่มประเทศที่ง่ายที่สุดคือประเทศสมาชิกจะยกเว้นการเก็บภาษีขาเข้าระหว่างกันเอง โดยที่แต่ละประเทศสมาชิกมีอิสระเต็มที่ในการตั้งอัตราภาษีเรียกเก็บจากประเทศนอกกลุ่ม เช่น เขตการค้าเสรีแปซิฟิค (Pacific Free Trade Area : PAFTA) เขตการค้าเสรีลาตินอเมริกา (Latin Amereca Free Trade : LAFTA) การรวมกลุ่มประเทศในลักษณะนี้มักจะมีปัญหาเนื่องมาจากการที่แต่ละประเทศสมาชิกมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน และการตั้งอัตราภาษีสำหรับประเทศนอกกลุ่มมีความแตกต่างกัน ทำให้ประเทศคู่ค้าสามารถเลือกค้ากับประเทศสมาชิกที่ตั้งอัตราภาษีไว้ต่ำ
    2. 2. สหภาพศุลกากร (Custom Union) เป็นการรวมกลุ่มเหมือนเขตปลอดภาษี แต่มีข้อตกลงเรื่องการตั้งกำแพงภาษีร่วมกันเพื่อเก็บจากประเทศนอกกลุ่ม แต่มักจะมีปัญหาคืออัตราภาษีที่ร่วมกันตั้งใหม่ ถ้าแตกต่างจากเดิมมากจะมีผลกระทบต่ออัตราภาษีเดิมที่เก็บภายในประเทศและส่งผลกระทบถึงราคาสินค้าในประเทศ
    3. 3. ตลาดร่วม (Common Market) มีลักษณะเหมือนสหภาพศุลกากรทุกประการ แต่เพิ่มเงื่อนไขว่า ไม่เพียงแต่สินค้าเท่านั้นที่สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยเสรีระหว่างประเทศสมาชิกแต่ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน สามารถทำได้โดยเสรี การตั้งตลาดร่วมจำเป็นต้องมีนโยบายหลาย ๆ ด้านที่ประสานกัน เช่น การเก็บภาษีรายได้ นโยบายการเงินภายใน นโยบายการค้า ตลอดจนกฎหมายต่าง ๆ
    4. 4. สหภาพเศรษฐกิจ (Economic Union) เป็นการรวมกลุ่มกันอย่างสมบูรณ์แบบ สมาชิกอยู่ภายใต้นโยบายเดียวกัน ใช้เงินตราสกุลเดียวกัน และอยู่ภายใต้อาณาจักรเศรษฐกิจเดียวกัน
ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญมีดังนี้
    1. 1. กลุ่มประชาคมยุโรป (European Community : EC) เกิดจากการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกในยุโรป 12 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักแซมเบิร์ก ปัจจุบันประชาคมยุโรปมีสภาพเป็นสหภาพศุลกากร กล่าวคือมีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกยกเลิกการเก็บภาษีขาเข้า การควบคุมสินค้าเข้าและสินค้าออกระหว่างประเทศสมาชิก และได้มีการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการค้ากับประเทศนอกประชาคมร่วมกัน โดยใช้ระบบประกันราคาผลิตผลเกษตรแบบเดียวกัน และใช้งบประมาณส่วนกลางของประชาคมยุโรปเข้าสู่การเป็นตลาดร่วมตั้งแต่ปี 2535 และคาดว่าในปี 2539 จะรวมตัวกันเป็นสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union) ซึ่งจะมีการใช้เงินตราในสกุลเดียวกัน
    2. 2. สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association) มีสมาชิกในปัจจุบัน 7 ประเทศ คือ นอรเวย์ สวีเดน ออสเตรีย สวิซเซอร์แลนด์ ไอแลนด์ ฟินแลบด์ และลิกเตนสไตน์ มีวัตถุประสงค์การก่อตั้งเป็นเขตการค้าเสรีมากกว่ากว่าเป็นสหภาพศุลกากร ในปี 2527 กลุ่ม ประเทศนี้ได้เคยแถลงการณ์ร่วมมือกันจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area : EEA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศทั้งสองส่วน ขั้นตอนในการจัดตั้งยังไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน จนกระทั่งปี 2532 กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียวิตกว่าการเป็นตลาดเดียวของประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของตน จึงไม่มีความประสงค์ที่จะก่อตั้งเขตเศรษฐกิจยุโรป แต่ประชาชนยุโรปยังให้การสนับสนุน เนื่องจากสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปเป็นตลาดสินค้าที่สำคัญ และใหญ่ที่สุดของประชาคมยุโรปจึงได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการและมีการให้สัตยาบันร่วมกัน โดยมีผลบังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไป
    3. 3. ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement : NAFTA) มีประเทศสมาชิกในปัจจุบัน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเลิกการกีดกันทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกทั้งสามและเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีที่ยอมรับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
    4. 4. กลุ่มประเทศอาเซียน ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 10ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียตนามลาวกัมพูชาและเมียนมาร์มีวัตถุประสงค์ในการรวมตัวกันในครั้งแรกคือการแบ่งงานกันผลิตสินค้าเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการผลิต และสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าภายหลังได้มีข้อเสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (Asean Free Trade Agreement : AFTA) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกค่อย ๆ ยกเลิกหรือลดภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ที่ค้าขายกันอยู่ ให้เหลือร้อยละ 5 ภายในระยะเวลา 15 ปี เชื่อว่าจะทำให้การค้าและการลงทุนของกลุ่มอาเซียนขยายตัวมากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจโลก
ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นประเทศสมาชิกในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มคล้ายกับการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ คือการยกเลิกกำแพงภาษีที่มีระหว่างประเทศสมาชิก และกำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ร่วมกัน เช่น การผลิตสินค้าบริการ การกำหนดอัตราภาษีศุลกากร ในขณะเดียวกันก็สร้างกำแพงภาษีเพื่อสกัดสินค้าที่มาจากนอกเขต ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็สังกัดอยู่ในกลุ่ม “ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและสินค้า (General Agreement on Tariff and Trade : GATT) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางการค้าของโลก ซึ่งประเทศไทยมีพันธะสัญญาที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเหล่านั้น เช่น การส่งเสริมการค้าแบบเสรี การลดอัตราภาษีนำเข้า การถือหลักการที่ไม่ให้มีการกีดกันทางการค้าแตกต่างกันตามประเทศคู่ค้า การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งมีข้อตกลงบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ขัดกับการค้าภายในประเทศ เช่น การยอมรับในข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิทางปัญญา แต่การประกอบธุรกิจในประเทศไทยหลายประเภทมีลักษณะละเมิดสิทธิทางปัญญา

เนื่องจากการที่แต่ละประเทศต่างรวมตัวกันเป็นเขตเศรษฐกิจในลักษณะต่าง ๆ กันประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะดำเนินการเฉพาะภายในกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายกีดกันสินค้าจากภายนอกกลุ่ม ทำให้เป็นการยากที่ประเทศไทยจะหาตลาดทางการค้า ประเทศไทยจึงต้องดำเนินนโยบายทางการค้าโดยการเจรจาทางการค้ากับประเทศคู่ค้าโดยตรงเพื่อรักษาตลาดทางการค้า ในขณะเดียวกันก็พยายามหาทางขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคที่ยังมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเข้มแข็งนัก เช่น ตลาดยุโรปตะวันออก และตลาดอินโดจีน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น